กลับสู่การเขียน Blog

นานมากแล้วที่ผมไม่ได้เขียน blog ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม

ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร ถ้านึก ๆ ดูอาจจะเป็นเหตุผลด้วยความยุ่งของชีวิตของเรา อีกส่วนหนึ่งเหตุผลอาจจะเป็นว่า ยิ่งโตขึ้น ยิ่งแก่ขึ้น ยิ่งเป็นนักวิชาการทำให้เรายิ่งไม่กล้าที่จะเขียนโดยเฉพาะอะไรที่อาจส่งผลเสียต่อตนเอง อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ เราอาจจะเผชิญความโหดร้ายของการคอมเมนต์ของผู้คนใน Facebook และทำให้เราขยาด

แต่เราคิดว่า การเขียนนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบันทึกความคิดเอาไว้ จะเขียนมาก เขียนน้อย ก็ควรจะเขียนเอาไว้ การที่เรามีความรู้และความคิดแล้วเก็บไว้คนเดียวไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไรต่อใครขึ้นมา ถ้าเราเขียนความคิดของเราบ่อย ๆ สม่ำเสมอบ้างก็คงจะดี

เดี๋ยวจะทยอย ๆ กลับมาเขียนใหม่ครับ

รากทางประวัติศาสตร์ของการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมดัตช์

เมื่อปีก่อนในพิธีส่งต่อราชสมบัติจาก Queen Beatrix ไปสู่ King Willem-Alexander กษัตริย์คนปัจจุบันของราชาอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ มีภาพที่ทำให้ผมทึ่งถึงความอดทนต่อความแตกต่างทางความคิดเห็นของคนดัตช์มาก ภาพนั้นคือ การที่มีซุ้มของขบวนการต่อต้านราชวงศ์ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังที่ Dam Square อันเป็นที่จัดพิธีราชาภิเษกกันเลยทีเดียว บริเวณดังกล่าวก็มีตำรวจลาดตระเวณอยู่เป็นปกติ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย 

จากการได้คุยกับแฟลตเมทที่เป็นคนดัตช์ เราสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่เนเธอร์แลนด์ถูกยึดครองโดยเยอรมนีในสมัยสงครมโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในสมัยนั้น สิทธิเสรีภาพของคนดัตช์ถูกจำกัดเป็นอันมาก มีเคอร์ฟิว ห้ามแสดงความคิดเห็น ห้ามต่อต้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมดัตช์เห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี เมื่อผมได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Prinsenhof Museum ที่ Delft อันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงการก่อตั้งประเทศเนเธอร์แลนด์และประวัติกษัตริย์องค์ต่างๆ ผมพบว่า การเคารพสิทธิเสรีภาพในการมีความเชื่อและการแสดงความคิดเห็นนั้นหยั่งรากลึกในสังคมดัตช์ย้อนกลับไปไกลกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 มากนัก 

ในช่วงศตวรรษที่ 16 เขตประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน เป็นส่วนเหนือของ 17 จังหวัดที่ลุ่มต่ำ (17 provinces of Habsburg Netherlands) ​อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ที่มีความเกี่ยวพันอย่างเหนียวแน่นกับศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิก ในช่วงนั้นนั่นเองกระแสต่อต้านนิกายคาธอลิก (นิกายโปรเตสแตนท์) ก่อตัวขึ้นและทวีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นในหลายเขตในอาณาจักร รวมทั้งในเขตเนเธอร์แลนด์ กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งอาณาจักรโรมันฯ ซี่งตอนนั้นมีศักดิ์เป็นกษัตริย์แห่งสเปนด้วย ต้องการทำการปราบปรามพวกพวกโปรเตสแตนท์ให้สิ้นซาก 

เจ้าชายวิลเลม แห่งตระกูลโอฆองจ์ (Orange) ที่เป็นผู้ปกครองในส่วนนี้ของอาณาจักรในช่วงนั้นมีความเห็นว่า คนไม่ควรจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จนเสียเลือดเสียเนื้อกันเพียงเพราะว่ามีความเชื่อในศาสนาที่แตกต่างกัน เจ้าชายวิลเลมจึงตัดสินใจสนับสนุนจังหวัดเหล่านี้ที่ได้มีการรวมตัวกันเป็น Union of Utrecht (ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) และประกาศเอกราชไม่ขึ้นต่อกษัตริย์แห่งสเปนอีกต่อไปในปี 1581 หลังจากนั้นสงครามกับสเปนก็ได้ดำเนินต่อไปและสิ้นสุดลงในปี 1648 หลังจากกษัตริย์ฟิลิปที่ 4 แห่งสเปนยอมรับการประกาศอิสรภาพของจังหวัดทางเหนือเหล่านี้ เป็นการสิ้นสุดสงคราม 80 ปี (ตั้งแต่ 1568-1648) และเป็นจุดเริ่มของสหพันธรัฐดัตช์ (Dutch Republic) มีเจ้าชายวิลเลมและลูกหลานของเขาเป็นผู้ครองเมือง (Stadholder) 

พัฒนาการทางการเมืองของเนเธอร์แลนด์นั้นยังมีจุดหักมุมอีกหลายจุด เช่น ในปี 1795 Dutch Republic ได้เปลี่ยนเป็น Batavian Republic โดยการปฏิวัติของประชาชนที่ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789), ในปี 1806 Batavian Republic ได้เปลี่ยนถูกเปลี่ยนเป็น Kingdom of Holland และตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียน โบนาปาร์ต จนกระทั่งปี 1813 ที่เนเธอร์แลนด์ทำสงครามเอาชนะนโปเลียนและขับไล่ฝรั่งเศสออกไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากปรัสเซียและกองทัพรัสเซีย กลายมาเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) ในปี 1815 และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Kingdom of the Netherlands ในปี 1839

แต่ถึงกระนั้นเนื้อหาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้สรุปว่า ความอดทนต่อความแตกต่างและเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นคุณค่าหลักของชาวดัตช์เลยทีเดียว 

การได้มีโอกาสเรียนรู้การก่อกำเนิดของเนเธอร์แลนด์นั้นทำให้ผมย้อนนึกถึงการก่อกำเนิดของสยามและประเทศไทย อะไรคือคุณค่าหลักของประเทศของเรา? 

จริงอยู่ว่า การตีความและนำเสนอประวัติศาสตร์นั้นมันก็ขึ้นอยู่กับคนที่นำเสนอ ชาวดัตช์อาจจะนำเสนอประวัติศาสตร์ของเขาในแบบราชาชาตินิยมแบบที่ประเทศไทยทำก็ได้ (คือนำเสนอเฉพาะเรื่องราวของกษัตริย์และความดีงามของพระองค์) แต่เขาก็เลือกที่จะนำเสนอประวัติศาสตร์ในรูปแบบที่ทำให้เห็นพลวัตรทางด้านการเมืองเศรษฐกิจสังคม ซึ่งทำให้เห็นภาพที่ต่างไปจากการนำเสนอแบบราชาชาตินิยม และด้วยการนำเสนอแบบนี้มันทำให้เราไม่ได้เห็นแต่เฉพาะกษัตริย์ในอดีต แต่เข้าใจถึงพลวัตรของสังคมในอดีตในภาพรวม พอจะเข้าใจคร่าวๆว่าเหตุปัจจัยของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร

ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้นึกสงสัยว่า หากเราหลุดพ้นจากประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมแบบที่เป็นอยู่ เราจะได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยในสยามประเทศและประเทศไทยนี้บ้าง 

แหล่งข้อมูล

Museum Prinsenhof Delft : http://prinsenhof-delft.nl
Netherlands : http://en.wikipedia.org/wiki/Netherlands
Batavian Republic : http://en.wikipedia.org/wiki/Batavian_Republic
Kingdom of Holland : http://en.wikipedia.org/wiki/Kingdom_of_Holland

ถึงเพื่อนๆผู้สนับสนุนกปปส.ที่รักทุกท่าน

ถึงเพื่อนๆผู้สนับสนุนกปปส.ที่รักทุกท่าน

ตัวผมนั้นเห็นด้วยกับการปฏิรูปทุกประเด็นแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกปปส.ที่พยายามจะให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยพยายามขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนี้

ความเห็นของผมสอดคล้องกับ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยและเครือข่ายสองเอาสองไม่เอามากกว่า ถ้าให้ชัดกว่านั้นคือ ผมสนับสนุนแนวทางที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชแห่ง TDRI นำเสนอคือ การเลือกตั้งต้องดำเนินไป (จะวันเดิมหรือเลื่อนวันภายใต้กติกาก็แล้วแต่) การปฏิรูปประเทศต้องทำตามกลไกภายใต้กติกาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไรก็ดีการปฏิรูปบางส่วนเช่น การปฏิรูปกระบวนการจัดการเลือกตั้งสามารถทำได้เลย ก็ทำก่อน กลไกที่จะบังคับสัญญาให้รัฐบาลใดก็ตามหลักการเลือกตั้งผลักดันการปฏิรูปต่อไปก็ต้องทำก่อน

เรื่องใหญ่กว่านั้นเช่นข้อเสนอการปฏิรูปของกปปส.ต้องทำภายใต้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น คือ ต้องเป็นกระบวนการที่ทำให้คนทุกภาคส่วนทุกกลุ่มทุกสีมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะ หากการปฏิรูปคลอดออกมาจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมแล้ว ไม่มีทางที่การปฏิรูปจะสามารถกระทำได้ และจะต้องเผชิญการต่อต้านอย่างแน่นอน

ผมว่ามันสำคัญว่าเรายอมรับว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับเราเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกับเราหรือเปล่า เขาเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถในการใช้เหตุผลแบบเราหรือเปล่า แม้จะมีมากน้อยไม่เท่ากัน และเขามีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของประเทศนี้เท่าๆกับเราหรือเปล่า ?

ถ้าเกิดไม่ยอมรับ ก็โปรดดำเนินการต่อไปตามเห็นสมควรเถิดครับ และผมขอส่งกำลังจิตกำลังใจให้ทุกคนที่ไปร่วมปฏิบัติการแห่งศรัทธานี้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างตลอดรอดฝั่งด้วยครับ

ยังรักและเป็นห่วงทุกคนเสมอแม้ว่าจะเห็นต่างกันครับ

ชล

เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ “ทฤษฎี”เศรษฐศาสตร์

* รวบรวมจาก comment ที่ให้ไว้ใน Facebook ของ Sorn Art วันที่ 9 มกราคม 2557

สวัสดีครับ ขอแลกเปลี่ยนด้วยความรู้เท่าที่พอจะมีเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

ผมคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้เป็น “ทฤษฎี” (theory) ทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเพียง “กรอบความคิด” (conceptual framework) ในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น

กรอบความคิด นั้นจะกำหนดว่ามีตัวแปรอะไรบ้างต้องพิจารณา โดยไม่ได้ทำนายว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ว่าถ้าสิ่งนี้เปลี่ยนแล้วสิ่งนั้นจะเปลี่ยนไปยังไง ในขณะที่ทฤษฎีนั้นจะทำนายด้วยว่า ถ้าสิ่งนี้เปลี่ยนไปแล้วสิ่งนั้นจะเปลี่ยนไปอย่างไร ทฤษฎีแทบทั้งหมดทางเศรษฐศาสตร์จะทำนายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเสมอ

เศรษฐกิจพอเพียง นั้นเป็นเพียงกรอบความคิด ที่จะเป็นหลักในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะโดยสาระของทฤษฎีบอกเพียงว่า ในการจะทำอะไรหนึ่งๆนั้นจะต้องคำนึงถึง 3 ส่วนคือ มีเหตุมีผลหรือไม่ พอประมาณหรือไม่ และมีภูมิคุ้มกัน/แผนสำรองเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบของความรู้และคุณธรรม

Continue reading “เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ “ทฤษฎี”เศรษฐศาสตร์”

“ยุทธศาสตร์ของ กปปส. จะไม่ช่วยในการทำลายระบอบทักษิณ”

วันนี้คุณกรณ์ จาติกวนิช เปรียบเทียบยุทธศาสตร์ของ กปปส. กับยุทธศาสตร์การปฏิวัติประชาชนในภาพยนตร์ Les Miserables (http://www.posttoday.com/การเมือง/268838/กรณ์-เปรียบชัตดาวน์กรุงเทพฯเทียบเคียง-les-miserables) เคยได้ยินจากเพื่อนที่ทำงานภาคการเงินที่ได้มีโอกาส exclusive กับคุณสุเทพก็ได้ข่าวเหมือนกันว่าคุณสุเทพได้ไอเดียพวกยึดสถานที่ราชการหรือยึดกรุงเทพฯ มาจากการปฏิวัติประชาชนในฝรั่งเศส

ในบริบทประเทศไทยปัจจบัน คุณสุเทพอ้างว่าต้องการขับไล่ระบอบทักษิณ ยุทธศาสตร์ของปฏิวัติประชาชนในฝรั่งเศสจะใช้ได้หรือไม่ ? คำถามนี่เองที่ทำให้การนิยาม “ระบอบทักษิณ” ว่าเป็นอย่างไรนั้นมีความสำคัญมาก เพราะถ้าไม่นิยามปัญหาให้ชัดเจน ยุทธศาสตร์จะไม่สามารถถูกออกแบบและดำเนินการให้มีประสิทธิภาพได้

ในข้อเขียนและการให้เหตุผลด้านล่างนี้ นี้ผมเสนอว่า ยุทธศาสตร์ของ กปปส. นั้นจะไม่ทำให้ระบอบทักษิณหายไป เพราะระบอบทักษิณไม่ได้มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ แต่เป็นเครือข่ายการคอรัปชั่น การแก้ไขปัญหานี้ต้องไปจัดการที่เงื่อนไขแวดล้อมที่เอื้อต่อการคอรัปชั่นในทุกระดับ คือ ต้องปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยต้องกระทำการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น จะใช้ทางลัดไม่ได้เพราะจะส่งผลต่อความชอบธรรมเชิงที่มาของการปฏิรูป

Continue reading ““ยุทธศาสตร์ของ กปปส. จะไม่ช่วยในการทำลายระบอบทักษิณ””

เลือกตั้งก่อนปฏิรูป เพื่อประชาธิปไตยที่ค่อยๆดีขึ้น ดีกว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแล้วตามด้วยสงครามกลางเมืองไม่รู้จบ

ขอพูดเรื่องการเมืองสักนิด เป็นครั้งแรกของปีนี้ อยากให้ลองอ่านแล้วแลกเปลี่ยนกันดูครับ ทั้งฝ่าย ที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนข้อเสนอปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของ กปปส. ครับ

ข้อความนี้ผมคิดพิจารณาในระดับหลักการ ของแนวคิดในหมู่ประชาชน 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายลุงกำนัน (กปปส.) ที่ต้องการให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และฝ่ายสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ที่ต้องการให้เลือกตั้งไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วค่อยปฏิรูป

จากเหตุผลที่สาธยายด้านล่าง ทางเลือกแบบที่ สปป. พยายามผลักดันน่าจะมีผลดีในระยะยาวในด้านเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า เพราะทุกฝ่ายกลับมาอยู่ภายใต้กติกาและพยายามกดดันให้ต่างฝ่ายต่างทำตามกติกา มากกว่าจะมาเป็นการชุมนุมเพื่อแย้งชิงอำนาจรัฐไปมาอย่างที่เป็นอยู่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศในทางที่ดีกว่า

เราจะยังไม่ได้ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” แต่เราจะได้ “ประชาธิปไตยที่ค่อยๆดีขึ้น”

Continue reading “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป เพื่อประชาธิปไตยที่ค่อยๆดีขึ้น ดีกว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแล้วตามด้วยสงครามกลางเมืองไม่รู้จบ”

ข้อเสนอการปฏิรูป: Platform ที่หลากหลายสำหรับการมีส่วนร่วมทางสังคม

#ureform #ilawforum ข้อเสนออีกส่วนหนึ่งคือ

ต้องส่งเสริมสนับสนุนหรือสร้างให้มี platform ที่เยาวชนทุกระดับชั้น คนทำงานที่เป็นชนชั้นกลาง /คนในภาคธุรกิจจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมและการเมืองให้มากขึ้นกว่าเพียงการร่วมการชุมนุม (ซึ่งเป็นเรื่องดีนะครับ ทั้งกรณีเขื่อนแม่วงก์หรือพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง) การที่ให้คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วม contribute กำลังแรงกาย ทุนทรัพย์และสติปัญญา จะเป็นกำลังสำคัญต่อโครงการ/กิจกรรมพัฒนาสังคมที่ชาวบ้านหรือ NGO ได้ทำอยู่ก่อนแล้ว และเป็นการสร้างให้เกิดความเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกันและกันและส่งเสริมให้เกิดจิตสาธารณะและความเป็นพลเมืองที่ Active

Continue reading “ข้อเสนอการปฏิรูป: Platform ที่หลากหลายสำหรับการมีส่วนร่วมทางสังคม”

ข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง: องค์กรให้ความรู้เรื่องการเมือง #ureform และ #ilawforum

ผมมองว่าปัญหาการเมืองไทยมันยังขาดส่วนสำคัญหลายส่วน วันนี้ขอนำเสนอ 1 ประเด็นครับ คือ องค์กรที่ให้ความรู้เรื่องการเมืองที่เป็นกลางที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยเรียนรู้เรื่องการเมืองตั้งแต่อยู่ในระบบการศึกษา :

ผมเสนอประเด็นนี้เพราะว่าสถานการณ์การเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมาทำให้เห็นความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองประชาธิปไตยที่หลากหลายและผิดเพี้ยนไปมาก ในคนแทบทุกหมู่เหล่า ทุกระดับการศึกษา ผมจึงคิดว่าส่วนนี้ควรจะมีขึ้นในสังคมไทย

องค์กรที่ว่านี้ผมเสนอให้มี 1 องค์กรกลาง ตามโมเดลของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่จะมีองค์กรชื่อ Prodemos ทำหน้าที่จัดกระบวนการการเรยีนการสอนด้านการเมืองให้กับนักเรียนมัธยมทั่วเนเธอร์แลนด์ โดยในกระบวนการนี่มีหลากหลายและน่าสนใจ โดยเน้นให้นักเรียนได้ประสบพบเจอกับนักการเมืองจริง คนทำงานในรัฐสภาจริงๆ ได้มีโอกาสทดลองกระบวนการทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่หลากหลายที่ช่วยให้ตัวเองเข้าใจจุดยืนทางการเมืองของตนและรู้ว่าจุดยืนดังกล่าวสอดคล้องกับพรรคการเมืองใด เพื่อจะได้เลือกได้ถูกต้อง

Continue reading “ข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง: องค์กรให้ความรู้เรื่องการเมือง #ureform และ #ilawforum”

ข้อเสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้ง #ilawforum#ureform

ข้อเสนอสั้นๆ ว่าด้วยเรื่องการช่วยตรวจสอบการเลือกตั้งไม่ว่าครั้งไหนๆครับ 

กรรมการการเลือกตั้งควรลงทุนในการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์/อินเตอร์เน็ต/server ที่มีศักยภาพและความจุสูงๆ และออกแบบกระบวนการและขั้นตอนที่จะทำให้คนที่มี Smart phone ทั่วประเทศไทยช่วยเป็นหูเป็นตาในการเลือกตั้งและสามารถส่งภาพ เสียง หรือ วีดีโอเข้ามาได้ตรงที่ช่องทางที่ กกต. จัดไว้ให้

ที่สำคัญมากๆคือ ผู้ส่งจะต้องแจ้งชื่อนามสกุลฯลฯที่จะ identify ผู้ส่งได้ เพื่อจะได้ไม่มีการส่งวีดีโอเข้ามาแบบไม่รับผิดชอบ แต่กกต.จะต้องสงวนชื่อ-สกุลของผู้ส่งเป็นความลับสุดยอดเพื่อความปลอดภัย

ประเด็นนี้ควรได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายมือถือทุกค่าย และ internet provider ในทุกท้องถิ่นทั่วไทย ให้เพิ่มประสิทธิภาพของการระบบเครือข่ายให้เต็มที่ในช่วงวันนั้น และขอไม่ให้รายการโชว์ที่ต้องมีการโหวตผ่าน sms ดำเนินรายการในวันนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าระบบจะมีศักยภาพเต็มที่ เรื่องนี้จะสอดคล้องกันพอดีกับข้อเสนอของ Tam Boonyakiat ที่ต้องการให้อินเตอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศ

นอกจากนี้ หากเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ผมเสนอให้ มวลมหาประชาชนกว่าล้านคน เลือกตั้งล่วงหน้า และกระจายไปทั่วประเทศเพื่อทำหน้าที่นี้ 77 จังหวัดนี่ได้จังหวัดละตั้ง 12,000 กว่าคนแหน่ะครับ 

ผมเชื่อมั่นว่าถ้าทำได้อย่างนี้ ร่วมกับการเมืองทุกค่าย และร่วมมือกับสีการเมืองทุกสีทุกค่ายทุกฝ่าย การเลือกตั้งต้องบริสุทธิยุติธรรมมากขึ้นแน่ครับ แม้จะไม่ 100% แต่ต้องดีขึ้นแน่

ข้อเสนอในประเด็นเรื่องการเรียนรู้เรื่องการเมืองในโรงเรียน #ureform #ilawforum

ในฐานะคนที่เคยเป็นประธานนักเรียนและทำกิจกรรมในโรงเรียนมาก่อน ผมคิดว่า การให้แต่ละโรงเรียนมีการเลือกประธานนักเรียนและกรรมการนักเรียน “เพื่อเป็นตัวแทนไปทำงานแทนเพื่อนนักเรียน” นั้น เป็นการทำลายความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าจะส่งเสริม เพราะมันเน้นย้ำเพียงการเลือกตั้งและละเลยแนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย โมเดลที่ใช้น่าจะเป็นโมเดลสภานักเรียนของญี่ปุ่นมากกว่า

Continue reading “ข้อเสนอในประเด็นเรื่องการเรียนรู้เรื่องการเมืองในโรงเรียน #ureform #ilawforum”