ข้อเสนอของนโยบายการปฏิรูปการพัฒนาในภาพรวม #ureform #ilawforum

การปฏิรูปควรจะให้ความสำคัญกับ ชีวิตของคนรายได้น้อยและคนด้อยโอกาส ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงขยายมาเติมเต็มความต้องการของคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง ตรงนี้หลายองค์กรอาจทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะคณะกรรมการปฏิรูปของอ.ประเวศ และคุณอานันท์ และองค์กร NGO อื่นๆทั่วประเทศไทย แต่ก็อยากขอเป็นอีกเสียงหนึ่งสนับสนุนการผลักดันเรื่องนี้ครับ

หลักการคือจะต้องพัฒนาให้สาธารณูปโภคและสิทธิพื้นฐานต่างๆ เอื้อกับการทำให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตสร้างรายได้ได้อย่างประหยัด และขณะเดียวกันก็พัฒนาตนเองได้ด้วยเพื่อจะได้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ต่อไป แต่ว่าคนแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการแตกต่างกัน ฉะนั้นจึงควรจะพิจารณาออกแบบนโยบายเป็นพื้นที่ๆ และให้เหมาะกับคนในระดับรายได้และลักษณะอาชีพต่างๆ

Continue reading “ข้อเสนอของนโยบายการปฏิรูปการพัฒนาในภาพรวม #ureform #ilawforum”

การเปลี่ยนแปลงองค์กรและสังคม – ใจความที่จับได้จาก speech ของท่านทูตวีรัชย

หลังจากงานปัจฉิมนิเทศนักเรียน ODOS รุ่น 1 ไม่นาน TSAN ได้จัดงาน Thai Student Day ครั้งที่ 3 ขึ้น เป็นงานที่ประหลาดเพราะว่าจัดทุกๆ 3 ปีโดยบังเอิญ จะว่าไปนี่ก็อาจจะใกล้ได้เวลาจัดอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ในงานนั้นท่านทูตวีรชัยไปกล่าวเปิดด้วย

งานนั้นนับเป็นงานที่นักเรียนหลายคนประทับใจท่านทูตวีรชัยเป็นอันมากเพราะปาฐกถาที่ท่านกล่าวนั้นได้ใจความและเปิดมุมมองนักเรียนไทยหลายๆคนมาก น่าเสียดายที่ผมจำไม่ได้แน่ชัดว่ามีใครอัดสิ่งที่ท่านพูดคราวนั้นได้หรือไม่ แต่จากการได้คุยกับน้องๆหลายคนที่ประทับใจในสิ่งที่ท่านพูดแล้วพบว่ามีใจความหนึ่งที่จำได้ตรงกันและควรนำมาบันทึกไว้

ผมจำได้ว่าท่านทูตพูดกับนักเรียนราวกับจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของรุ่นพี่นักเรียนทุนที่อยากแปลประเทศไทยให้รุ่นน้องได้ฟังกัน

ท่านบอกในทำนองว่า ปกติพวกนักเรียนนอกเวลากลับเมืองไทยจะไฟแรง และอยากจะเปลี่ยนแปลงองค์กรที่ตนอยู่ หรือกว้างกว่านั้นคือเปลี่ยนแปลงสังคม แต่จำนวนมากเช่นกันที่พบว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างใจและก็หมดไฟไปในที่สุด บ้างก็กลายร่างเป็นคนแบบที่ตนเคยปรามาสมาก่อน

ท่านจึงบอกว่าจากบทเรียนของท่าน ท่านเรียนรู้ว่า โดยธรรมชาติไม่มีใครที่ทำงานมาเนิ่นนานอยากจะถูกเด็กใหม่มาสอนสั่งหรอก การที่เราไปไฟแรงแบบนั้นจะทำให้มีแรงต้านมาเกินจำเป็น วิธีการที่แยบคายที่สุดก็คือ เมื่อเข้าไปในองค์กรก็ทำตามหน้าที่บทบาทของตน เรียนรู้ไปเรื่อยๆก่อน ถ้าเกิดเราไม่รู้ชัดว่าสิ่งที่เรากำลังอยากจะเปลี่ยนแปลงมีปัญหาอะไรเราย่อมแก้มันไม่ได้แน่

ในระหว่างนั้นเราก็ทำบทบาทหน้าที่ให้ดี โตไปตามสายงานที่ครวจะเป็น ดูแลไม่ให้ตัวเองไปตกอยู่ในห้วงของการทุจริตเสียเอง ส่วนคนอื่นก็ไม่ต้องไปวุ่นวายกับเขาให้เกิดศัตรูโดยเปล่าประโยชน์เว้นแต่ว่ามันเป็นหน้าที่ของเราเราก็ทำตามหน้าที่

แล้วเมื่อเราโตไปถึงแต่ละจุดที่เรามีบทบาทหน้าที่และอำนาจในการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้ เราก็ค่อยๆทยอยเปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับ

การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ต้องใช้เวลาและความอดทน แต่มันมีโอกาสที่จะทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงจริงๆ

แนวคิดของท่านทุตวีรชัยอาจพอชี้ทางและเป็นกำลังใจให้หลายๆคนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ครับ 🙂

ท่านทูตวีรชัยที่ผมรู้จัก (จบ): แรงบันดาลใจที่มีให้คนธรรมดา

ที่เขียนเล่ามาข้างต้นทั้งหมดก็เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบมุมมองมิติอื่นๆของท่านทูต และแง่คิดต่างๆที่ผมได้เรียนรู้ตามโอกาสที่ได้ปฏิสังสรรค์กับท่านทูต และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย

ผมคิดว่า กรณีท่านทูตวีรชัยเป็นครั้งแรกๆในรอบหลายสิบปีเลยก็ว่าได้ที่สังคมไทยจะยกย่องข้าราชการในวงกว้างขนาดนี้ ข้าราชการที่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถและมุ่งพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่สนใจว่าผลกระทบต่อตนเองจะเป็นอย่างไร เพียงแค่ทำเต็มที่ตามหน้าที่ และปฏิบัติตนอย่างดีตามบทบาทข้าราชการ

การปฏิบัติตนตามบทบาทนั้นอาจจะดูใกล้เคียงกับการทำตามหน้าที่ แต่จริงๆก็มีความแตกต่างกันอยู่ และคนจำนวนมากอาจจะไม่ได้มองตรงจุดนี้มากนัก หน้าที่คือสิ่งที่ต้องทำ บทบาทคือสิ่งที่ควรปฏิบัติในสถานการณ์หนึ่งๆซึ่งขึ้นอยู่กับหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นๆในสถานการณ์นั้นด้วย ที่จะเป็นตัวชี้ว่าเราควรมีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์นั้นๆ คนที่ทำตามหน้าที่ แต่ไม่ละเอียดอ่อนกับเรื่องบทบาทอาจจะตกอยู่ในที่นั่งลำบากก่อนกำหนดเพราะไปทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับบทบาทที่พึงกระทำ บางสิ่งบางอย่างเราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราอยู่ในบทบาทและมีหน้าที่ที่จะกระทำได้เท่านั้น ถ้าเราทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่เราพึงกระทำ บทบาทหน้าที่นั้นเองที่จะเป็นสิ่งที่คุ้มครองเรา

จากการได้ฟังเรื่องราวอื่นๆของท่านทูตที่ไม่ได้เล่า ณ ที่นี้ ก็ทำให้ผมเข้าใจว่า เพราะความคำนึงถึง “บทบาท” ประกอบไปกับการทำ “หน้าที่” ของตน บวกกับแนวคิดที่ได้เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้แล้วนี่เองที่ทำให้ท่านทูตวีรชัยสามารถมายืนที่จุดนี้ได้ ไม่เป็นศัตรูกับใครและได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อชาติบ้านเมือง

นอกจากนี้อาจเรียกได้ว่า ท่านทูตวีรชัย ได้ทำสิ่งธรรมดาที่คนธรรมดาๆไม่ค่อยได้ทำกัน จนกระทั่งเกิดผลสัมฤทธิ์อันเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและได้รับการยกย่องสรรเสริญไปทั่ว อีกด้วย ซึ่งต่างจากการยกย่องในกรณีอื่นๆ เช่น นักกีฬาซึ่งจำเป็นต้องมีพรสวรรค์และทรัพยากร นักธุรกิจใหญ่ที่จำเป็นจะต้องมีเงินมีทรัพย์สิน

สิ่งธรรมดาๆที่ว่านี่ก็คือการทำตาม “บทบาท” และ “หน้าที่” ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ และมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักนั่นเอง

บทบาทหน้าที่เหล่านนี้ไม่เพียงแต่เฉพาะบทบาทหน้าที่ในงานเท่านั้น แต่บทบาทหน้าที่ที่มีต่อคนรอบตัวด้วย คือ ต่อครอบครัว ภรรยา พ่อแม่ และญาติมิตร ต่อเพื่อนร่วมงานและเพื่อนฝูง ต่อครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้น้อย และต่อพระสงฆ์องคเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิควรสักการะในศาสนาต่างๆ

ผมเชื่อแน่ว่า เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติพี่น้อง รุ่นพี่/เพื่อนผองของท่านทูต คณะทำงาน รวมถึงคุณลิซ ภริยา ได้ทำตามบทบาทหน้าที่ของตนอย่างดียิ่ง จึงทำให้ท่านทูตกระทำการเพื่อชาติครั้งนี้ได้สำเร็จ ท่านทูตเองก็ทำบทบาทหน้าที่ของตนเองเช่นกัน ทั้งในงาน ครอบครัว และความสัมพันธ์ส่วนตัวอื่นๆ งานนี้จึงสำเร็จไปได้ ดังที่ท่านทูตได้อัญเชิญเนื้อความในพระราชดำรัสของในหลวงมากล่าวไว้ในโอวาทต่อนักเรียน ODOS รุ่นที่ 1 ว่า ถ้าคนไทยเพียงทำตามหน้าที่คนตนเอง ประเทศไทยคงจะก้าวไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก ทั้งน้ีเพราะสิ่งดีๆที่คนคนหนึ่งทำให้อีกคนหนึ่งอาจเกิดผลคูณอันมหาศาลที่เป็นประโยชน์กับทุกๆคนก็ได้

หากคุณชื่นชม ท่านเอกอัครราชทูต ดร.วีรชัย พลาศรัย ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนได้ลองปฏิบัติตามท่านอย่างง่ายๆด้วยการทำตามบทบาทหน้าที่ของตนเองที่มีต่องาน คนรอบตัว และสังคม ให้เต็มที่ ตามกำลังของตนเองครับ 🙂

ท่านทูตวีรชัยที่ผมรู้จัก (3): ข้าราชการกับการเมือง และการทำงาน

มุมมองต่อกรณีที่โดนย้ายจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมายไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง

ครั้งหนึ่งบทสนทนาหลังอาหารเย็นของเราโยงไปถึงเรื่องกรณีที่ท่านโดนย้ายจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมายไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ในสมัยที่คุณนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมได้สอบถามมุมมองของท่านต่อเรื่องนี้ และพบว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจ

โดยสรุป ท่านบอกว่า เรื่องนี้มันไม่มีอะไรมาก ผมก็ทำเต็มที่ตามบทบาทหน้าที่ของผม ผมเป็นข้าราชการมีหน้าที่ใช้ความรู้ความสามารถในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ผมก็ทำตามนั้น ส่วนคุณนพดลเองก็มีหน้าที่ มีขอบเขตอำนาจของเขา และเขาก็ใช้อำนาจนั้นตามวิจารณญาณ ตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งแต่ละคนก็ต้องรับผิดชอบต่อผลกรรมที่ตัวเองทำขึ้น ผมก็โดนย้ายไป ส่วนคุณนพดลก็ได้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาทำตามกฎหมาย ถ้าปัจจุบันเรายังเจอกันก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันเพราะต่างคนต่างทำตามบทบาทหน้าที่ ตามขอบเขตอำนาจของตนและก็รับผิดชอบผลกรรมของตัวเอง

มุมมองนี้ผมคิดว่าน่าสนใจเพราะว่า หากเปรียบเทียบกับเพื่อนพี่น้องที่เป็นข้าราชการที่ผมรู้จัก หากโดนกรณีที่ท่านวีรชัยโดน จะต้องรู้สึกหมดกำลังใจ หรือมีความโกรธ เกลียด นักการเมืองแฝงอยู่เพราะรู้สึกเป็นผู้ถูกกระทำ หรือบางคนอาจจะไม่กล้าทำอะไรเลยก็ได้ และก็ทำตามคำสั่งของนักการเมืองไป

ผมเชื่อว่ามุมมองนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านวีรชัยสามารถทำงานราชการในหน้าที่อย่างเต็มที่ได้โดยไม่หวั่นกับอิทธิพลทางการเมืองใดๆ นอกจากนี้ในเชิงครอบครัวท่านเองไม่ได้มีภาระให้กังวลมากนัก ท่านเคยพูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าเกิดมีปัญหา อันตรายหรือโดนขู่ทำร้ายจริงๆ ผมก็ให้คุณลิซไปลี้ภัยที่สถานทูตสวิสได้

อย่างไรก็ดี มุมมองลักษณะนี้ไม่ได้มีกันชั่วข้ามคืน แต่ว่าสั่งสมมาเป็นเวลานานตั้งแต่เด็ก ผมทราบคร่าวๆว่าท่านเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแล้วจึงได้ทุนกระทรวงการต่างประเทศไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส เรื่องราวที่ผมได้ฟังจากท่านที่ทำให้ทราบว่าท่านมีแนวคิดแบบนี้มาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยเด็กๆก็คือตอนที่ท่านไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง

ว่าด้วยเรื่องความโกรธ

วันที่ได้ฟังเรื่องนี้เป็นวันที่ทางสถานทูตฯนัดเลี้ยงขอบคุณคณะทำงานที่ช่วยรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2010 วันนั้นเราไปรับประทานอาหารจีนในกรุงเฮกกัน เป็นร้านประจำที่ท่านทูตมารับประทานบ่อยมาก

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย ท่านทูตก็ชวนคุย ภาพลักษณ์ของท่านทูตที่มีต่อหมู่คณะทำงานของสถานทูตฯนั้นจะมีลักษณะที่ค่อนข้างเฮี้ยบ และใส่ใจในรายละเอียดมาก ผมสังเกตได้ว่าพี่ๆสถานทูตจะมีความเกรงกลัวและเกรงใจท่านอยู่มากทีเดียว แต่วันนั้นท่านก็เล่าโน่นนี่ และผมว่าทำให้บรรยากาศในวงคนทำงานเป็นกันเองมาก เรื่องที่ผมจำได้คือ ท่านถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้นกำเนิดของอุดง ก๋วยเตี๋ยวของญี่ปุ่น ซึ่งไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของท่านทูตด้วยก็คือเรื่องความโกรธ

ท่านทูตบอกว่า ทุกคนไม่ต้องกังวลว่าผมจะโกรธหากทำอะไรผิดพลาดเลย เพราะว่าเวลาคนทำอะไรผิดพลาดสิ่งที่ต้องทำก็คือต้องหาเหตุและแก้ไข การโกรธไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา ผมจะโกรธก็ต่อเมื่อผมเห็นว่าการโกรธนั้นจะทำให้คนคนหนึ่งพัฒนาขึ้น งานหรือองค์กรพัฒนาขึ้นเท่านั้น ซึ่งน้อยครั้งมากที่ความโกรธจะทำให้เกิดประโยชน์เหล่านี้

นี่เป็นจุดหนึ่งที่ผมรับเข้ามาจำใส่ไว้ในใจเพราะส่วนตัวก็เคยโกรธและเห็นผลเสียของการโกรธนั้น

ผมเลยถามท่านทูตว่า แล้วท่านทูตเคยโกรธจริงๆไหมครับ ท่านทูตตอบว่าเคย ตอนสมัยเรียนปริญญาตรีที่ฝรั่งเศส (ถ้าผมจำไม่ผิด) เรื่องมีอยู่ว่า ในปีหนึ่ง น่าจะใกล้ๆเดือนตุลาฯ​ นักเรียนไทยในฝรั่งเศสมีการจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับเรื่องเดือนตุลาฯ หรือประชาธิปไตยอะไรประมาณนี้ วันนั้นท่านทูตที่ยังเด็กยืมกล้องถ่ายรูปอันใหม่ของรุ่นพี่ท่านหนึ่งไปที่งานเสวนาด้วย แล้วก็ส่องผ่านกล้อง ถ่ายตรงโน้นตรงนี้ในงาน จู่ๆรุ่นพี่ที่อยู่บนเวทีเสวนาก็พูดขึ้นว่า “ใครใช้ให้เด็กนั่นเอากล้องมาถ่ายรูปในงานนี้!!”

ผมจำไม่ได้ว่าท่านทูตบอกหรือเปล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่จำได้ชัดว่า ท่านทูตเล่าว่า ท่านทูตเดินออกจากงานไป แล้วไปยืมเก้าอี้พับตัวหนึ่งมาจากรุ่นพี่ (เข้าใจว่าเป็นท่านที่ให้ยืมกล้อง) แล้วเดินไปที่เวที แล้วฟาดลงบนเวทีอย่างแรง! (หรือว่าจะฟาดที่พี่เค้าแล้วพลาดก็จำไม่ได้แน่ชัด) …

เหตุผลที่ท่านทูตโกรธมากนั้นน่าสนใจกว่าเรื่องราวอีก ท่านทูตบอกว่า ท่านโกรธมากเพราะว่า การที่ท่านเอากล้องไปส่องดูหรือถ่ายรูปนั้นเป็นสิ่งที่ท่านตัดสินใจทำของท่านเอง ไม่มีใครใช้ท่านให้ทำอะไรต่อมิอะไรได้ เว้นแต่ประชาชนที่จ่ายภาษีให้ท่านมาเรียนเท่านั้นแหละ การพูดอย่างงั้นเท่ากับเป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์กันเลยทีเดียว คือ จะทำอะไรต้องให้คนใช้มา คิดเองไม่ได้ ท่านเลยโกรธมาก

หลังจากนั้นสำนักงานผู้แทนนักเรียนก็เรียกท่านไปคุย แต่คงเพราะว่าท่านเป็นเด็กดีมาตลอดจึงได้คุยกันด้วยเหตุผลและก็ยังคงได้เรียนต่อไป

นอกเหนือจากข้อคิดเรื่องการโกรธในการทำงานแล้ว เรื่องนี้ยังสื่อให้เห็นว่าท่านทูตเป็นคนที่มีอุดมการณ์และตระหนักในหน้าที่ที่ตนในฐานะนักเรียนทุนกระทรวงการต่างประเทศ และปัจจุบันที่เป็นข้าราชการ มาตั้งแต่สมัยวัยเยาว์กันเลยทีเดียว

(มีต่อ)

ท่านทูตวีรชัยที่ผมรู้จัก (2): ดนตรี

ดนตรี

หลังจากครั้งนั้น ผมก็ได้มีโอกาสเจอท่านทูตตามงานไทยต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่เป็นโอกาสที่ทำให้ได้รู้จักท่านทูตมากขึ้นคือการเล่นดนตรี ผมได้ทราบข่าวจากพี่ๆที่สถานทูตฯตั้งแต่ก่อนท่านมาแล้วว่า ท่านชอบเล่นดนตรีมาก และให้ผมเตรียมตัวไว้เลยเพราะท่านทูตคงอยากจะตั้งวงเล่นดนตรีกันมากๆ

แล้ววันนั้นก็มาถึงจริงๆ

ผมจำไม่ได้หรอกว่า วันนั้นเป็นอย่างไร แต่ทราบว่า ท่านทูตชอบเล่นดนตรีจริงๆ ที่ทำเนียบจะมีห้องที่มีอุปกรณ์ดนตรีที่ท่านใช้ และเอาไว้ซ้อมดนตรีโดยเฉพาะห้องหนึ่ง มีเปียโน มี mixer เครื่องเสียงครบชุด มีกีต้าร์โปร่ง กีต้าร์ไฟฟ้าหลายตัวต่างประเภทกันสำหรับหลายโอกาส มีกีต้าร์เบส ไมโครโฟนหลายประเภท สายไมค์ เรียกได้ว่า สามารถจัดมินิคอนเสิร์ตกันได้สบาย และก็จัดอยู่หลายโอกาสเวลาที่มีการจัดเลี้ยงภายในตามโอกาสและเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่คณะทำงานหลังจากปฏิบัติหน้าที่เสร็จ

เดิมทีผมเล่นดนตรีอยู่กับพี่เค (กู้เกียรติ ทุดปอ) ที่มาเรียนปริญญาเอกด้านชีววิทยาที่เมือง Nijmegen เราสองคนเป็นมือกีต้าร์และนักร้องของสมาคมนักเรียนไทยอยู่เดิม เป็นเนื้อคู่ทางดนตรีก็ว่าได้ เล่นเพลงตั้งแต่ลูกทุ่ง ป๊อบร๊อค เบเกอร์รี่ ยันดนตรีสากล ช่วงตั้งแต่ ELvis ไล่มาจนปัจจุบัน แต่ก็เเฉพาะเพลงดังๆที่คนรู้จักกันทั่วไปนะครับ

พอท่านทูตมาได้สักพักก็เชิญพวกเราเข้าไปเล่นดนตรีกัน เรา 3 คนจะเล่นดนตรีแนวโฟล์คที่มีเสียงประสานเพราะๆ และอาจจะมีการโชว์เทคนิคการเล่นบ้าง เล่นเพลงสากลและเพลงไทย ถ้าเป็นเพลงสากลก็จะอยู่แนวๆ the Beatles, the Eagles, Bob Dylan, Peter Paul & Mary, Frank Synatra, เพลงประกอบภาพยนตร์หลายเพลง และนักร้องโฟลค์ หรือบางทีก็ Jazz สมัยเก่าอีกหลายคน ส่วนเพลงไทย เราก็จะเล่นไล่มาตั้งแต่สุนทราภรณ์, ดิ อิมพอสสิเบิล มาจนปัจจุบันอย่างอัสนีย์ วสันต์ หรือบางครั้งก็มีเบเกอรี่มิวสิคบ้าง

ท่านทูตชอบร้องอยู่ 3 เพลง คือ เพลง I saw her standing there ของ the Beatles นี่เรียกว่าเป็น highlight เพราะเพลงมันส์มาก ท่านทูตทั้งร้องทั้งโซโลกีต้าร์ เพลงที่ 2 คือเพลงชาวดง ของ ดิ อิมพอสซิเบิล และเพลงที่ 3 ท่านทูตร้องร่วมกับน้องตาล (ศิริลักษณ์ ทรงศรี) เพลง Something Stupid แต่เพลงนี้ปราบเซียนมากเพราะต้องอาศัยการประสานเสียงตลอดทั้งเพลง ส่วนที่เหลือท่านจะคอยกำกับการประสานเสียงให้ประณีตและถูกต้องที่สุด

ตอนแรกเราใช้ชื่อวงว่า Den Haag Wanderer อันนี้พี่ลุ่ย (ณัฐวุฒิ ฉลองโภคสินชัย -ผู้จัดการวง) เป็นคนตั้ง ต้องยอมรับว่า เวลาเล่นในงานไทยอาจจะไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะว่าเราเล่นเพลงฝรั่งและไทยสากลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากในหมู่คนไทย แต่ก็ยังดีที่เราพอจะมีแฟนเพลงอยู่บ้าง ถือเป็นทางเลือกให้กับคนไทยที่ไม่ได้มีพื้นเพมาจากภาคอีสานหรือสนใจเพลงสากลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต่อเราได้เปลี่ยนชื่อวงมาเป็น the Stroop มาจนปัจจุบัน

ต่อมา เนื่องจากนักเรียนไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น และเราค่อนข้างโชคดีที่มีนักดนตรีแวะเวียนเข้ามาบ่อยๆ จึงเป็นโอกาสที่ทำให้พวกเราได้มีสมาชิกในวงเพิ่มเติม หมุนเวียนกันมาตลอด ที่ควรกล่าวถึงเพราะมีโอกาสได้ซ้อมและเล่นกับท่านทูตบ่อยๆก็เห็นจะเป็น พี่ปลาทอง (เกรียงไกร สันติโภชนา แห่งวง iHear band) มือทรัมเป็ตแจ๊สผู้เป่าท่อนทรัมเป็ตสุดฮิตของพลงหยุดของวง Groove Rider พี่เขามาเรียนดนตรีแจ๊สที่เมือง Groningen ซึ่งไกลจาก Den Haag มาก และเดินทางมาเล่นด้วยกันเป็นประจำ เป็นคนที่ท่านทูตชื่นชมมาก, คนต่อมาคือน้องสิทธิ (ธนสิทธิ์ อัศวมงคลกุล) เป็นนักร้องจาก CU Chorus, น้องอ๊อฟ (phitawat poonpolkul) มือเปียโนที่เล่นได้ทั้งแนวแจ๊สและคลาสสิค จาก TU Band, น้องเต้ย (Tridti Patarakiatsan) ที่เล่นทั้งเบสและเพอร์คัชชั่น และน้องตาล นักร้องหญิงที่บางทีเป็นพิธีกรภาษาดัชต์ให้วงด้วยเพราะอยู่เนเธอร์แลนด์มานาน

ในการซ้อมแต่ละครั้ง ท่านทูตก็จะให้ความเป็นกันเองกับพวกเราที่ไปซ้อมมาก ซ้อมกันตอนบ่าย ตอนเย็นรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ซึ่งในหลายๆครั้งเราได้ลองอาหารที่ท่านทูตจะเตรียมเอาไว้รับแขกบ้านแขกเมืองที่จะมาเยี่ยมเยียนที่ทำเนียบด้วย ในหลายๆโอกาสเป็นสูตรเฉพาะของบ้านท่านทูต หลังจากนั้นก็จะมานั่งพักดื่มชากาแฟ และผมก็พี่เคก็จะบรรเลงเพลงที่เราเล่นได้ประกอบ บางทีท่านทูตก็เอากีต้าร์มาเล่นและร้องเพลงกันต่อ นี่จะเป็นช่วงที่ท่านทูตจะแนะนำเพลงเก่าๆให้พวกเรารู้จัก พวกเราเองก็เล่นเพลงในยุคสมัยของเราให้ท่านทูตฟังเช่นกัน บางทีท่านก็จะเล่าประวัติเพลง ประวัตินักดนตรีต่างๆให้ฟังด้วย ในบางคราวก็มีการถามไถ่และเล่าถึงเรื่องงานให้ฟังบ้าง

ผมพูดได้เต็มปากว่าท่านเป็นคนติดดินมาก และไม่ถือตัวเลย คุณลิซ ภริยาของท่านทูตนี่พวกผมเกรงใจจนไม่รู้จักเกรงใจอย่างไรเพราะว่าคุณลิซเองก็เป็นคนติดดินมาก เป็นกันเอง คอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบอยู่เสมอ และบริการแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเยียนที่ทำเนียบรวมถึงพวกผมอย่างเต็มที่มากๆ ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผมยิ่งมีความนับถือท่านทูตและคุณลิซ ภริยามากยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากดนตรีสากลแล้ว ท่านทูตยังส่งเสริมให้มีการตั้งวงดนตรีไทยในเนเธอร์แลนด์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยทำการซ่อมแซมเครื่องดนตรีไทยที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯได้พระราชทานให้เป็นเวลานานแล้ว และเชิญครูสอนดนตรีไทยจากอังกฤษมาสอนเดือนละครั้ง และซ้อมกันเองอีกหนึ่งครั้ง จนปัจจุบันวงมีอายุได้ราว 3 ปีแล้ว ทั้งนักเรียนและคนไทยในเนเธอร์แลนด์ได้มีโอกาสเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมไทยก็คราวนี้เอง ท่านทูตฯโดยปกติรับหน้าที่เล่นกลองแขก และโทน รำมะนา อันเป็นเรื่องเคาะจังหวะ (Percussion) ของไทย

อย่างไรก็ดี การซ้อมดนตรีสากลนั่นเองที่ทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับความคิดและหลักการของท่านทูตเป็นอันมาก และเป็นที่มาของเรื่องราวส่วนใหญ่ในบทความชุดนี้

(มีต่อ)

ท่านทูตวีรชัยที่ผมรู้จัก (1): เจอท่านทูตครั้งแรก

ตอนแรกๆที่ผมได้มีโอกาสไปซ้อมดนตรีที่บ้านท่านทูตและได้ทานอาหารเย็นร่วมกับท่านทูตเมื่อ 3 ปีก่อนนั้น ผมมีความประทับใจท่านทูตในหลายๆเรื่อง และผมก็ได้เรียนรู้หลายๆอย่างจากท่านถึงขนาดว่าอยากจะเขียนบทความอะไรลักษณะนี้แต่ก็ยังไม่ได้มีโอกาสจะเขียนเพราะยังลังเลใจอยู่ว่าควรจะเขียนเผยแพร่เรื่องเหล่านี้หรือไม่

แต่​ ณ ปัจจุบันที่ท่านทูตได้รับความชื่นชมจากคนในประเทศอย่างล้นหลามจากการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมทนายประเทศไทยว่าความในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดี “การตีความคำตัดสิน คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505” ระหว่างไทยกับกัมพูชา ผมคิดว่าอาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้หากผมได้สะท้อนมุมมองจากที่ผมรู้จักท่านทูตให้คนใกล้ๆตัวผม (เช่นเพื่อนๆใน facebook) ได้รับทราบถึงมิติอื่นๆของท่านทูตบ้าง เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป ซึ่งหากมีความผิดถูกประการใดผมขอรับผิดไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ

หลักๆผมจะเล่าให้ฟังถึงวิธีคิดและเรื่องเล่าที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์มากและผมจำไว้ในใจตลอดมา แล้วตอนท้ายจะเขียนสรุปปิดเพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่ท่านทูตวีรชัยได้แสดงให้สังคมได้เห็นนั้นมันมากกว่าเพียงการเป็นวีรบุรุษของชาติในการปกป้องแผ่นดินไทย แต่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนธรรมดาจำนวนมากเลยทีเดียว

เจอท่านทูตครั้งแรก

ครั้งแรกสุดที่จำได้ว่าพบท่านทูตคือตอนงานปัจฉิมนิเทศน์นักเรียน ODOS รุ่นที่ 1 (โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษา) ผมและทีม TSAN (สมาคมนักเรียนไทยในเนเธอร์แลนด์) ไปช่วยจัดกระบวนการร่วมกับทางสถานทูต มีช่วงหนึ่งในคืนสุดท้ายที่ผมจัดเอาไว้ให้เป็นช่วงกระตุ้นจิตสำนึกของน้องๆให้คิดถึงประเทศชาติด้วย ต้องยอมรับว่าน้องพวกนี้มีจิตสำนึกเพื่อประเทศชาติอยู่แล้ว หลังจากเราได้ปลุกจิตสำนึกเด็กๆได้พักหนึ่งเราจึงให้น้องๆเขียนจดหมายถึงตนเองในอนาคต ทีนี้ตอนก่อนที่จะให้เอามาใส่กล่องที่จะเป็น time capsule (จะส่งให้น้องๆในเร็วๆนี้) ผมก็เชิญให้ท่านทูตช่วยให้โอวาทกับน้องๆ เพื่อย้ำเตือนและปลุกใจให้น้องๆรู้ถึงความสำคัญของพวกเขาเองในการพัฒนาชาติบ้านเมืองในอนาคต

ในคราวนั้นท่านทูตเพิ่งจะมาดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ผมจำได้ว่าพบท่านทูตที่งานนั้นเป็นวันแรก ตอนแรกก็กล้าๆกลัวๆนิดหน่อย แต่ท่านก็เป็นกันเองมาก และก็รับฟังการบรีฟของผมเกี่ยวกับกระบวนการของงานและสิ่งที่ขอให้ท่านช่วยอย่างตั้งใจ

เมื่อถึงเวลา ท่านทูตได้ให้โอวาทกับน้องๆมีใจความคร่าวๆว่า “ไม่อยากให้ทุกคนต้องกดดันว่าแบกภาระอนาคตของชาติเอาไว้ แต่ขอเพียงให้ทุกๆคนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเท่านั้นก็พอ หน้าที่ที่ตัวเองมีในการงาน ต่อสังคม ต่อครอบครัว เพื่อนฝูง ทำให้ดี ทำให้เต็มที่ ถ้าหากเพียงคนไทย 66 ล้านคนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ประเทศไทยคงไปได้ไกลกว่านี้หลายเท่าตัวนัก” ซึ่งสิ่งนี้ตรงกับพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยพระราชทานเอาไว้ และท่านทูตก็ได้อัญเชิญพระราชดำรัสมาประยุกต์ใช้และพูดกับน้องๆ ODOS

ในใจผมตอนแรกก็คิดว่าโอวาทอาจจะเป็นอะไรที่ออกแนวโรแมนติกนิดหนึ่ง คือ ให้กำลังใจหรือปลุกใจให้ฮึกเหิม แต่เมื่อฟังโอวาทของท่านทูตแล้ว กลับรู้สึกว่า แม้สิ่งที่ท่านทูตพูดจะไม่ได้เป็นอะไรที่ฟังดูยิ่งใหญ่ หรือปลุกใจให้ฮึกเหิมอะไรมาก แต่ก็เป็นคำพูดง่ายๆ ที่ทุกๆคนทำได้ เป็นการย้ำเตือนสิ่งธรรมดาที่มีความสำคัญมาก คือ การทำตามบทบาทและหน้าที่ของตนให้เต็มความสามารถ

เอาเข้าจริงๆวันนั้นนั่นเองที่ผมเริ่มรู้สึกนับถือท่านทูตจากใจจริง มิใช่เพียงแค่เพราะว่าท่านเป็นทูตเท่านั้น แต่เพราะว่าโอวาทที่ท่านได้ให้กับน้องๆ ODOS นั้นสะท้อนให้เห็นว่าท่านมิได้เพียงรับคำว่าจะมาให้โอวาทเท่านั้น แต่ท่านได้คิดไตร่ตรองมาอย่างดี และคิดว่าโอวาทนี้แหละที่จะเหมาะกับน้องๆ

จะว่าไปในแง่หนึ่งก็ถือได้ว่าท่านก็ทำตามสิ่งที่ท่านให้โอวาทเช่นกัน

(มีต่อ)

บทสรุปกรณี Musketeer ลอกเพลงของ Colbie จริงหรือไม่? พิจารณาจากหลักฐานที่มี

บทความนี้ผมนำเสนอหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งเพลงของวง Musketeer ประกอบด้วยตัวอย่าง Demo ในช่วงแรกของการเริ่มทำเพลง และบทสัมภาษณ์ที่ผมถาม Producer คุณดุสิต ตันสกุล ใน Facebook. เพื่อตอบคำถามว่า เขาเอาเพลงของ Colbie มาลอก ในกระบวนการทำเพลงนี้หรือไม่ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นผมจะเล่าความเดิมตอนที่แล้วให้ฟังโดยสรุปก่อนว่าหลักการพิจารณาเรื่องนี้เป็นอย่างไรในส่วนแรก

อนึ่ง ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าผมเขียนบทความเหล่านี้มิใช่เพราะว่าเป็นแฟนเพลง หรือเพราะมีผลประโยชน์ใดๆเกี่ยวข้องกับทางวง และไม่ได้ต้องการอ้างว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้กว่าผู้ฟังคนอื่นแต่อย่างใด เพียงแต่ผมคิดว่า การที่คนๆหนึ่ง (โดยเฉพาะคนที่เป็นสื่อ) จะกล่าวหาคนอื่นว่า ลอกเพลงคนอื่นมา แบบลอยๆ จากการฟังแค่อินโทรหรือไม่กี่รอบแบบผ่านๆ โดยไม่มีหลักการในการพิจารณาหรืออ้างอิงหลักฐานนั้นเป็นการกล่าวหาที่ไม่รับผิดชอบ และการที่มีคนจำนวนมากเห็นตามๆกันไม่ได้เป็นเครื่องบอกว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ นี่เป็นความพยายามของผมที่จะมองเรื่องนี้อย่างมีเหตุมีผลเท่านั้น คนที่คิดว่าการที่คนจำนวนมากเห็นตรงกัน คือความจริง หรือ การพิจารณาอย่างผิวเผินบนพื้นฐานของประสบการณ์ตนเองเท่านั้นคือความจริง โปรดอย่าเสียเวลาอ่านหรือคอมเมนต์ Continue reading “บทสรุปกรณี Musketeer ลอกเพลงของ Colbie จริงหรือไม่? พิจารณาจากหลักฐานที่มี”

เปรียบเทียบเพลงของ Musketeer และ Colbie Collait: Form ของเพลง และ Scale degree

พอดีว่าคุณ MS ตั้งคำถามที่ดีมีประโยชน์ไว้ในคอมเมนต์ขอเอามาแชร์ตรงนี้ครับ

1 ฟอร์มเพลงเป็นยังไง ละมันเหมือนกันหรือต่างกันยังไง
2 เมโลดีที่เหมือนกันมีที่ไหน ที่ไม่เหมือน เกิดอะไรขึ้น เอาของฝรั่งมาพัฒนา ใส่ Variation เพิ่มมั้ย

ในส่วนของฟอร์มของเพลง ผมแสดงให้เห็นว่าเพลงทั้งสองมีการเรียงท่อนเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ส่วนของสองนั้น ผมแสดงเปรียบเทียบท่อนต่อท่อนว่ามีเมโลดี้เหมือนกันหรือไม่อย่างไร เพื่อใช้เป็นพื้นฐานของการถกเถียงต่อไป ณ ปัจจุบันยังไม่มีใครมีหลักการชัดเจนว่าจะพิจารณาอย่างไรว่าเพลงนี้ “copy” อีกเพลงหนึ่งหรือไม่อย่างไร

แต่จากการแสดงคำตอบด้านล่างจะพบว่า แม้จะเพลงของ Musketeer จะมีความคล้ายคลึงในหลายๆด้าน แต่จุดที่แตกต่างชัดเจนที่สุดก็คือ ลักษณะการถามตอบระหว่างท่อนตัวโน้ตในประโยคของดนตรี ตรงจุดนี้มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดที่สุด  ความแตกต่างของเพลงสำหรับผมแล้วมีมากเกินกว่าที่จะกล่าวหา Musketeer ว่า “ลอก” แต่ถามว่าคล้ายไหม คงตอบว่าคล้ายถ้าไม่ได้ฟังละเอียดๆ และถ้าใช้หลักในการวิเคราะห์เพลงแบบเพลงคลาสสิคดังที่คุณ ms ช่วยกรุณาอธิบายให้ฟัง ผมคิดว่าเพลงป๊อบแทบทุกเพลงจะคล้ายกันอย่างที่สุด

โดยภาพรวมผมมองว่า เราสรุปไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเป็นแรงบันดาลใจหรือไม่ เว้นแต่เราจะรู้ว่ากระบวนการแต่งเพลงนี้เป็นอย่างไร ทั้งสองเพลงอาจจะได้แรงบันดาลใจเดียวกันจากเพลงที่เก่ากว่านี้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นความบังเอิญจากการบังคับของอัคระและวรรณยุกต์ในภาษาไทยบวกกับข้อจำกัดต่างๆของเพลงป๊อบฟังสบายก็ได้ หรืออาจจะเป็นหลายๆส่วนประกอบกัน

หากเห็นหลักฐานแล้วยังคงมองว่าเค้าลอกกันมาทั้งดุ้นอีกละก็ ผมก็ไม่มีอะไรจะพูดมากกว่านี้แล้วครับ และขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมและอ่านกันครับ Continue reading “เปรียบเทียบเพลงของ Musketeer และ Colbie Collait: Form ของเพลง และ Scale degree”

จดหมายถึง Drama Addict กรณีการลอกเพลงของ Musketeer

เรียนจ่าพิชิต

จริงๆผมพิมพ์ไปในโน้ตแล้ว แต่ขอเอามารวมกันและสรุปให้จ่าได้ฟังสักนิด ผมลองหาข้อมูลเบื้องต้นเป็นกรณีการลอกเพลง (music plagiarism) จากกรณีในต่างประเทศ (http://www.gelfmagazine.com/archives/picking_up_what_theyre_laying_down.php)
มาเพื่อให้เห็นว่ามันมีหลักการอะไรที่ใช้บอกว่าเพลงนี้ลอกหรือไม่ลอก และใช้หลักการนั้น apply กับกรณีของเพลงของ Musketeer และ Colbie Caillat ข้อสรุปของผมคือ จากหลักฐานที่มีโดยการเปรียบเทียบทั้ง 2 เพลงชี้ว่าทั้ง 2 เพลงมีความแตกต่างกันเกินกว่าจะสรุปได้ว่า Musketeer ลอกเพลงของ Colbie (*ผมปรับตามคำแนะนำของหลายๆคนจากประโยคเดิมที่ว่า “Musketeer ไม่ได้ลอกเพลงของ Colbie ด้วยเหตุผลด้านล่างนี้ครับ” ทังนี้เพราะเหตุผลที่ให้ด้านล่างเป็นการบอกว่าเหมือนหรือไม่เหมือน ไม่ได้ระบุถึงเจตนาของผู้แต่ง)

จากบทความนี้ กรณี George Harrison’s “My Sweet Lord” ปี 1971 เค้าต้องพิสูจน์กันว่า ความเหมือนนั้นเป็นความบังเอิญหรือเปล่า ในกรณีนี้ Harrison แพ้คดี เพราะว่าเพลงต้นแบบมีโน้ตที่เป็น “ลายเซ็น” (signature) แบบที่ไม่น่าจะบังเอิญเหมือนได้ ในกรณี Bob Marley’s “Buffalo Soldier” ปี 1980 ไม่มีการฟ้องร้องในที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่า ท่อน bridge มันเบสิคเกินไปกว่าที่จะบอกว่า Marley ลอกเพลงมา

ฉะนั้นหลักสำคัญคือ เมโลดี้และคอร์ดมันมี “ลายเซ็น” หรืออะไรที่เป็นเอกลักษณ์หรือไม่ หรือถ้ามันง่ายเกินไปในแบบที่ใครในโลกที่แต่งเพลงมีโอกาสจะใช้เมโลดี้หรือคอร์ดลักษณะนั้นๆได้ เค้าจะไม่นับว่าเป็นการลอกเพลง (จริงๆแล้วมันมีหลักอื่นด้วย เช่นว่า ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าศิลปิน “เข้าถึง” (access) เพลงได้จริงหรือไม่ด้วย ส่วนที่อธิบายนี้เป็นเรื่อง “ความเหมือน” (similarity) เหตุที่ในต่างประเทศต้องพิจารณาเรื่องการเข้าถึงเพราะในต่างประเทศคนลอกเพลงอาจจะยิงเพลงออกมาก่อนก็ได้)

ในกรณีนี้ Signature ของเพลงของ Colbie อยู่ที่
1. ในท่อน A ถ้าลองดูทิศทางของเมโลดี้ เพลงของ Colbie จะเป็นโน้ตจากสูงลงต่ำ
2. ท่อน B แม้ว่าจะเหมือนกันในวลีแรก 1-2-2 1-2-2 แต่ว่า ของ Colbie ก็จะกลับมาที่รูปแบบเดิมคือลงต่ำ
3. ท่อนฮุค ที่โน้ตตัวสุดท้ายของแต่ละวลี จะจบที่จังหวะยกที่ 3 ของห้องก่อนเข้าจังหวะที่ 4

3 จุดนี้ในเพลงของ Musketeer มีความแตกต่างชัดเจน
1. ในท่อน A ของ Musketeer จะสูงลงต่ำแค่วลีแรก แต่หลังจากนั้นเค้าก็ไปตามทางของเขา
2. ในท่อน B ในวลีแรกเหมือนกัน แต่จากนั้น Musketeer ก็ไปตามทางของเขา รูปแบบดังกล่าวมันง่ายมากที่จะซ้ำกัน (มีโน้ต 2 ตัว)
3. ในท่อนฮุคนั้นเหมือนในตอนต้น 5-6-1-2-3 มันเป็น scale Pentatonic ที่เป็น scale ที่พื้นฐานมาก เพลงจำนวนมากในโลกมีโน้ตชุดนี้แน่นอน แต่รูปแบบของทำนองหลังจากนั้นก็ต่างกัน

ส่วนเรื่องทางเบส เพลงของ Colbie ไลน์เบสมีเอกลักษณ์มาก 1-5-121 ตรง 121 (หรือ 2-6-232) เค้าใช้จังหวะต่างกันนะครับ ตอน 21 สุดท้ายนี่เก็บจบในจังหวะที่ 3 Musketeer ใช้รูปแบบที่ง่ายกว่าและเหมือนไม่ได้วางแผนให้เป็นรูปแบบนี้ทั้งเพลง โน้ต 21 สุดท้ายตกลงที่จังหวะยกที่ 3 และ 4 และใช้เฉพาะ intro ในขณะที่เพลงของ Colbie นั้นดูตั้งใจให้ไลน์นี้เป็นเอกลักษณ์ไปทั้งเพลงนอกจากนี้ ในท่อน A1, A2 และ B ในเพลงของ Colbie ยังคงรูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ในขณะที่เพลงของ Musketeer ใช้แค่ตอน intro และ หลังจากนั้น A1 ใช้แบบเบสิค A2 หลังจากฮุคแรกไปแล้วผมยังว่าเค้าเล่นได้หลากหลายมากนะครับ

ต่อมาพิจารณาในส่วนของท่อนฮุคของ Musketeer เทียบกันตรงนี้เห็นความต่างชัดเจนเลยครับ เพลงของ Colbie พยายามทำให้เป็นรูปแบบเรียบๆเหมือนว่าจะไม่ต้องการแย่งความสนใจไปจากส่วนอื่นของเพลง ของ Musketeer มีการใส่ลูกเล่นอีกแบบหนึ่งไปเลย

จากหลักการและหลักฐานข้างต้น ผมสรุปว่า จากหลักฐานที่มีโดยการเปรียบเทียบทั้ง 2 เพลงชี้ว่าทั้ง 2 เพลงมีความแตกต่างกันเกินกว่าจะสรุปได้ว่า Musketeer ลอกเพลงของ Colbie ( *ผมปรับตามคำแนะนำของหลายๆคนจากประโยคเดิมที่ว่า “Musketeer ไม่ได้ลอกเพลงของ Colbie เพลงของ Colbie”) มันมีความเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงเก่ากว่านั้นอีกเพลงหนึ่ง หรือจากคนละเพลงกันเลยก็ได้ แต่เป็นเพลงประเภทเดียวกัน ซึ่งตรงนี้เราก็บอกไม่ได้ นอกจากนี้เรายังชี้ชัดไปไม่ได้ด้วยว่าเจตนาของผู้แต่งเป็นอย่างไร ผมว่าถ้าจะบอกว่านักร้องลอกโน๊ตของไท ธนาวุฒิ เพลงใช่เลย ในตอนท้ายมายังจะดูมีเหตุผลมากกว่า

ขอบคุณครับ

ลิงค์วีดีโอ
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=eO8bQOqUU54
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=GtDABbFXs54#!

[Edit 10:56 , 5 March 2013]

[Edit 08.41, 6 March 2013]

เราควรรักสถาบันอย่างไร?

*สถาบันในบทความนี้ใช้ตามความหมายที่รู้กันโดยนัยทั่วไปในสังคม (ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่านัยยะที่ผมเข้าใจคือที่สังคมเข้าใจไหมเพราะว่ามันเป็นไปโดยนัย คือไม่เปิดเผยหรือแสดงกันให้เห็นอย่างเด่นชัด)

ช่วงหลายปีมานี้ ผมคิดว่าเราได้เห็นวิธีการรักสถาบันของคนไทยผ่าน social media อย่าง Facebook หลายรูปแบบ และจำนวนมากเป็นแบบที่เมื่อเห็นแล้วก็จะรู้สึกป่วยจิตมากเป็นพิเศษ เพราะในหลายกรณีดูเป็นการรักแบบไม่ลืมหูลืมตา ยึดติดรูป บูชาวัตถุและปกป้องสัญลักษณ์ แบบงมงายไม่ลืมหูลืมตามาก ดูตัวอย่างได้จาก http://drama-addict.com/2013/02/22/สี่สถาบันหลัก/

ผมเคยเขียนไว้ที่ไหนสักแห่งเพื่อเตือนใจเพื่อนพี่น้องชาวสวนกุหลาบและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องความรักสถาบัน การปกป้องชื่อเสียงสถาบันนี้ไว้นานแล้ว คิดว่าอาจจะประยุกต์ใช้กับการรักสถาบันระดับชาติได้เช่นกัน

คำถามแรกที่ต้องถามตัวเองก่อนก็คือ ทำไมเราจึงรักสถาบันหนึ่งๆ เช่น สถาบันการศึกษา, สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์? หลายคนอาจจะเพิ่งตระหนักว่าเราเองก็ไม่รู้ว่าทำไมเราถึงรักสิ่งเหล่านี้ แต่หลายคนอาจตอบได้ เช่น กรณีที่เรารักสถาบันกษัตริย์ รักในหลวง ก็เพราะว่าในหลวงท่านทรงงานหนักเพื่อคนไทย ทั้งๆที่ท่านไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดนั้นและทำเท่าๆกับที่กษัตริย์ชาติอื่นทำก็ได้ เรารักเคารพสถาบันศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม นอกเหนือจากความศักดิ์สิทธิที่อาจมากับคำสอนแล้ว ก็เป็นเพราะว่าศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มุ่งให้สังคมสงบสุข ศาสดาทุกๆคนได้สละทั้งชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสอนและเผยแพร่คำสอนเหล่านั้น เรารักสถาบันการศึกษาของเราเพราะสถาบันให้การศึกษากับเรา สร้างและหล่อหลอมตัวตนของเราขึ้นมาเป็นเรา เป็ฯที่เก็บของประสบการณ์วัยเด็กและวัยรุ่นของเราเป็นต้น

โดยไม่รู้ตัว ในหลายโอกาสเรารักสถาบันเหล่านี้เพราะเราหลอมรวมมันเข้ามาเป็น “ตัวตน” ของเราโดยไม่รู้ตัว เพราะสิ่งที่เราประสบมาทั้งหมดมันเป็นชุดความทรงจำของเราที่ได้รับมา ผ่านการกลั่นกรองแล้วว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี ถูกกล่อมเกลาสั่งสอนจากสื่อ การศึกษา และกระบวนการสังคม ให้ “รัก” “หวงแหน”​และ “ปกป้อง”

ผมว่าปัญหาที่นำไปสู่ความป่วยจิตของการรักสถาบันน่าจะอยู่ตรงนี้นี่เอง “หวงแหน” และ “ปกป้อง”

เราไปเน้นการแสดงความรักต่อสถาบันด้วยการ “หวงแหน” และ “ปกป้อง” โดยลืมตระหนักไปว่า ความหวงแหนและปกป้องนั้น เป็นเกาะยึดว่าสิ่งนี้เป็นของเรา ฉะนั้นเมื่อมีใครมาว่า มาด่า หรือโจมตีสถาบัน เราจึงถือว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวและสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในกระบวนการของการปกป้องอย่างที่เราเห็นใน social media

ย้อนกลับไปที่คำตอบของคำถามแรก ที่ว่า ในแทบจะทุกโอกาสเลย เวลาที่เรารักสถาบันหนึ่งๆนั้น สถาบันนั้นมักจะให้อะไรกับเราสักอย่าง เช่น ทำประโยชน์ให้สังคมที่เราอยู๋ หรือสังมในระดับที่กว้างกว่านั้น เช่นสังคมโลก, ให้การศึกษาเรา ให้ที่อยู่อาศัย ที่สร้างประสบการณ์ดีๆ เป็นต้น

ทำไมเราจึงไม่เปลี่ยนการ “แสดงความรักสถาบันด้วยการพัฒนาหรือส่งต่อสิ่งดีๆ” ที่สถาบันนั้นให้แก่เราบ้าง?

เช่น การรักชาติ ถ้าเรารักชาติเพราะว่าชาตินี้เป็นแผ่นดินเกิดของเรา ให้ที่อยู่อาศัย ทำให้เรามีที่ทำกิน มีที่อยู่ที่กิน ที่ยืนในสังคม แทนที่เราจะไปมัวหวงแหนธงชาติที่ประดิษฐ์ขึ้นมาไม่ถึง 80 ปี ทำไมเราลองคิดว่า เราจะทำให้คนอีกมากในสังคมได้รับโอกาสอย่างเราบ้าง เขาจะได้รักชาติเหมือนที่เรารักบ้าง? ถ้าเรารักพุทธศาสนาเพราะคำสอนชี้หนทางแห่งจิตอันสว่างให้เรา แทนที่จะไปเป็นเดือดเป็นแค้นที่คนต่างชาติเอาพระพุทธรูปของเราวางไว้ในที่ที่เรามองไม่เหมาะสม ทำไมเราไม่ร่วมกันศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจังเล่า ถ้าเรารักในหลวงเพราะทรงเป็นพ่อของแผ่นดิน ทำงานเพื่อลูกๆและคอยสอนและให้คติเตือนใจอย่างสม่ำเสมอ แทนที่เราจะไปตามล่าแม่มดตีรันฟันแทงคนอื่น ทำไมเราไม่ทำอย่างท่านบ้าง ด้วยการเป็นกำลังร่วมกันทำสิ่งดีๆอย่างที่ในหลวงทรงปฏิบัติมาตลอด ด้วยการทำตามพระราชดำรัสของท่าน ด้วยการรักทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกันไม่แบ่งแยกบ้างเล่า

การรักสถาบันด้วยการช่วยแบ่งปันสิ่งดีๆที่เราได้รับจากสถาบันต่อไปนั้น นอกจากช่วยให้คนได้รับและเข้าใจประโยชน์ของสถาบันแล้ว ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการบ่อนทำลายสถาบันด้วยการปล่อยข่าวหรือข้อมูลลวง(หรือใช้ตรรกะจับแพะชนแกะ)ให้เกิดความเข้าใจผิดเพี้ยนได้อีก ซึ่งการบ่อนทำลายความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งดีมีประโยชน์ที่มาจากสถาบันนี้เองที่อันตรายกว่าการการเอาธงไปทำกระโปรง หรือการเอาพระพุทธรูปไปทำมิดีมิร้ายเป็นไหนๆ

อีกจุดที่สำคัญไม่แพ้กันและก็ยากทีเดียวคือ การยอมรับเมื่อสถาบันที่เรารักและหวงแหนทำผิดทำพลาด หรือส่งผลที่ไม่ดีต่อใครก็ตาม และเราก็ควรจะช่วยกันรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วยใจเป็นกลาง และร่วมกันช่วยเหลือปรับปรุงพัฒนาสถาบันอันเป็นที่รักของเรา

ถ้าเรารักสถาบันให้ถูกทาง ให้มีสติ ผมมั่นใจมากว่า เราจะมีเรื่องป่วยจิตและความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดจากเลือดรักสถาบันไร้สาระเหล่านี้น้อยลงไปอีกเยอะครับ