รากทางประวัติศาสตร์ของการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมดัตช์

เมื่อปีก่อนในพิธีส่งต่อราชสมบัติจาก Queen Beatrix ไปสู่ King Willem-Alexander กษัตริย์คนปัจจุบันของราชาอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ มีภาพที่ทำให้ผมทึ่งถึงความอดทนต่อความแตกต่างทางความคิดเห็นของคนดัตช์มาก ภาพนั้นคือ การที่มีซุ้มของขบวนการต่อต้านราชวงศ์ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังที่ Dam Square อันเป็นที่จัดพิธีราชาภิเษกกันเลยทีเดียว บริเวณดังกล่าวก็มีตำรวจลาดตระเวณอยู่เป็นปกติ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย 

จากการได้คุยกับแฟลตเมทที่เป็นคนดัตช์ เราสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่เนเธอร์แลนด์ถูกยึดครองโดยเยอรมนีในสมัยสงครมโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในสมัยนั้น สิทธิเสรีภาพของคนดัตช์ถูกจำกัดเป็นอันมาก มีเคอร์ฟิว ห้ามแสดงความคิดเห็น ห้ามต่อต้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมดัตช์เห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี เมื่อผมได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Prinsenhof Museum ที่ Delft อันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงการก่อตั้งประเทศเนเธอร์แลนด์และประวัติกษัตริย์องค์ต่างๆ ผมพบว่า การเคารพสิทธิเสรีภาพในการมีความเชื่อและการแสดงความคิดเห็นนั้นหยั่งรากลึกในสังคมดัตช์ย้อนกลับไปไกลกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 มากนัก 

ในช่วงศตวรรษที่ 16 เขตประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน เป็นส่วนเหนือของ 17 จังหวัดที่ลุ่มต่ำ (17 provinces of Habsburg Netherlands) ​อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ที่มีความเกี่ยวพันอย่างเหนียวแน่นกับศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิก ในช่วงนั้นนั่นเองกระแสต่อต้านนิกายคาธอลิก (นิกายโปรเตสแตนท์) ก่อตัวขึ้นและทวีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นในหลายเขตในอาณาจักร รวมทั้งในเขตเนเธอร์แลนด์ กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งอาณาจักรโรมันฯ ซี่งตอนนั้นมีศักดิ์เป็นกษัตริย์แห่งสเปนด้วย ต้องการทำการปราบปรามพวกพวกโปรเตสแตนท์ให้สิ้นซาก 

เจ้าชายวิลเลม แห่งตระกูลโอฆองจ์ (Orange) ที่เป็นผู้ปกครองในส่วนนี้ของอาณาจักรในช่วงนั้นมีความเห็นว่า คนไม่ควรจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จนเสียเลือดเสียเนื้อกันเพียงเพราะว่ามีความเชื่อในศาสนาที่แตกต่างกัน เจ้าชายวิลเลมจึงตัดสินใจสนับสนุนจังหวัดเหล่านี้ที่ได้มีการรวมตัวกันเป็น Union of Utrecht (ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) และประกาศเอกราชไม่ขึ้นต่อกษัตริย์แห่งสเปนอีกต่อไปในปี 1581 หลังจากนั้นสงครามกับสเปนก็ได้ดำเนินต่อไปและสิ้นสุดลงในปี 1648 หลังจากกษัตริย์ฟิลิปที่ 4 แห่งสเปนยอมรับการประกาศอิสรภาพของจังหวัดทางเหนือเหล่านี้ เป็นการสิ้นสุดสงคราม 80 ปี (ตั้งแต่ 1568-1648) และเป็นจุดเริ่มของสหพันธรัฐดัตช์ (Dutch Republic) มีเจ้าชายวิลเลมและลูกหลานของเขาเป็นผู้ครองเมือง (Stadholder) 

พัฒนาการทางการเมืองของเนเธอร์แลนด์นั้นยังมีจุดหักมุมอีกหลายจุด เช่น ในปี 1795 Dutch Republic ได้เปลี่ยนเป็น Batavian Republic โดยการปฏิวัติของประชาชนที่ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789), ในปี 1806 Batavian Republic ได้เปลี่ยนถูกเปลี่ยนเป็น Kingdom of Holland และตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียน โบนาปาร์ต จนกระทั่งปี 1813 ที่เนเธอร์แลนด์ทำสงครามเอาชนะนโปเลียนและขับไล่ฝรั่งเศสออกไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากปรัสเซียและกองทัพรัสเซีย กลายมาเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) ในปี 1815 และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Kingdom of the Netherlands ในปี 1839

แต่ถึงกระนั้นเนื้อหาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้สรุปว่า ความอดทนต่อความแตกต่างและเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นคุณค่าหลักของชาวดัตช์เลยทีเดียว 

การได้มีโอกาสเรียนรู้การก่อกำเนิดของเนเธอร์แลนด์นั้นทำให้ผมย้อนนึกถึงการก่อกำเนิดของสยามและประเทศไทย อะไรคือคุณค่าหลักของประเทศของเรา? 

จริงอยู่ว่า การตีความและนำเสนอประวัติศาสตร์นั้นมันก็ขึ้นอยู่กับคนที่นำเสนอ ชาวดัตช์อาจจะนำเสนอประวัติศาสตร์ของเขาในแบบราชาชาตินิยมแบบที่ประเทศไทยทำก็ได้ (คือนำเสนอเฉพาะเรื่องราวของกษัตริย์และความดีงามของพระองค์) แต่เขาก็เลือกที่จะนำเสนอประวัติศาสตร์ในรูปแบบที่ทำให้เห็นพลวัตรทางด้านการเมืองเศรษฐกิจสังคม ซึ่งทำให้เห็นภาพที่ต่างไปจากการนำเสนอแบบราชาชาตินิยม และด้วยการนำเสนอแบบนี้มันทำให้เราไม่ได้เห็นแต่เฉพาะกษัตริย์ในอดีต แต่เข้าใจถึงพลวัตรของสังคมในอดีตในภาพรวม พอจะเข้าใจคร่าวๆว่าเหตุปัจจัยของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร

ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้นึกสงสัยว่า หากเราหลุดพ้นจากประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมแบบที่เป็นอยู่ เราจะได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยในสยามประเทศและประเทศไทยนี้บ้าง 

แหล่งข้อมูล

Museum Prinsenhof Delft : http://prinsenhof-delft.nl
Netherlands : http://en.wikipedia.org/wiki/Netherlands
Batavian Republic : http://en.wikipedia.org/wiki/Batavian_Republic
Kingdom of Holland : http://en.wikipedia.org/wiki/Kingdom_of_Holland